ถ้าท่านรู้จักและเคยลิ้มลองแบรนด์เหล่านี้ เช่น แกะกินกล้วย หอมเฮิร์บ แปดเซียน ชะลูด ชวาลา มัดใจ ไอดิน แตนบาติก แหล่มฮิ Rice Me, Herbane, Ban Bon, Cassy Chips ฯลฯ ก็แปลว่าท่านได้สัมผัสกับผลงานการเรียนรู้ และยกระดับมาตรฐานธุรกิจชุมชนที่เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ นักศึกษา-ชุมชน-บริษัทพี่เลี้ยง ตามแนวทาง “ธรรมศาสตร์โมเดล” ที่คณะฯร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชน และธนาคารออมสินดำเนินการต่อเนื่องกันมาหลายปี หลายชุมชนได้รับรางวัลระดับชาติ หลายแบรนด์ส่งออกไปต่างประเทศได้ และหลายแบรนด์ก็กำลังแต่งตัวเตรียมขึ้นเครื่องบินเช่นกัน
ปีนี้เราเพิ่งไปลงนาม MOU เพื่อร่วมกันพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 8 แห่งในจังหวัดระยองซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของสมาคมเพื่อนชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดย 5 บริษัทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มปตท เอสซีจี บีแอลซีพี เพาเวอร์ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย และกลุ่มบริษัทโกลว์ โดยมีสมาชิกสมทบอีก 11 บริษัท โดยมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองมาเป็นประธาน และคับคั่งไปด้วยผู้บริหารจากส่วนราชการต่างๆที่เข้ามาสนับสนุนในโครงการนี้
หัวใจของ MOU ที่ลงนามต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 คือการนำนักศึกษาออกจากห้องเรียน 4 เหลี่ยม ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน ใช้ปัญหาจริงของวิสาหกิจชุมชนเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ สอนให้นักศึกษาลงมือแก้ไขปัญหาธุรกิจและการบัญชีสำหรับชุมชนที่มีปัญหาสาระพัดตั้งแต่สินค้ายังไม่ได้มาตรฐาน แพคเกจไม่ดี ไม่มีแบรนด์ ไม่มีช่องทางการขายในวงกว้าง ออนไลน์ไม่เป็น คนรู้จักน้อย ยอดขายน้อย ไม่รู้บัญชี ไม่รู้ต้นทุน ตั้งราคาไม่เหมาะสม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาซ้ำๆที่เกิดกับวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ทั่วทั้งประเทศ
นักศึกษามีเวลา 1 ภาคการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาสาระพันที่ระบุไว้ข้างต้นโดยไม่ใช่แค่เพียงจัดทำแผนแต่ต้องลงมือปฏิบัติตามแผนที่ได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา แล้ววัดผลจากตัวชี้วัดที่กลุ่มนักศึกษาเป็นผู้เสนอและต่อรองกับอาจารย์ประจำวิชา ซึ่งต้องไปให้ถึงอัตราการเติบโตของยอดขาย และผลกำไร ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งในปีก่อนๆที่ผ่านมาอัตราการเติบโตถัวเฉลี่ยมักจะหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนรายที่เล็กหน่อยก็โตมากกว่าพันเปอร์เซ็นต์กันเลยทีเดียว
ความสำเร็จในโครงการนี้มุ่งไปที่ผลลัพธ์ของการยกระดับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าดีขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ และเหนือสิ่งอื่นใดนักศึกษาต้องนำเสนอให้เห็นว่าการทำงานทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานที่เป็นจุดแข็งของชุมชน เอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง และจบลงที่มีการวางกลไกที่ทำให้มั่นใจได้ว่าแม้กลุ่มนักศึกษาจะออกจากพื้นที่มาแล้ว แต่โครงการจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างก้าวหน้าด้วยตัววิสาหกิจชุมชนเอง
อดใจรออีกไม่นาน ปลายภาคการศึกษานี้ได้เห็นแน่นอนว่า 8 วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือในปีที่ 4 นี้จะพลิกโฉมและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้อย่างน่าชื่นใจเพียงใด
รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Leave a Comment