‘ปลาช่อนทะเล’สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยที่น่าจับตามอง
‘ปลาแซลมอน’ กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญระดับโลกและเป็นเมนูอาหารสุดฮิตที่ทุกประเทศต้องลิ้มลอง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความอร่อยของเนื้อปลาหรือคุณค่าทางอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการทำตลาดและสร้างการรับรู้ของสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศผู้เลี้ยงปลาแซลมอนเพื่อส่งออกรายใหญ่ของโลก ที่สามารถสร้างแผนการตลาด, ควบคุมคุณภาพการผลิต และการโปรโมตสินค้าได้แบบครบวงจรจนทำให้มียอดคำสั่งซื้อเข้าอย่างต่อเนื่อง อย่างประเทศไทยเองในปี 2563 ที่ผ่านมาก็มีการสั่งนำเข้าแซลมอนนอร์เวย์สูงถึง 16,771 ตัน มูลค่า 3,650 พันล้านบาท เห็นได้ชัดเจนว่าความสำเร็จในการทำตลาดของ ‘แซลมอนนอร์เวย์’ สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับการทำแผนโปรโมต “สินค้าประมงและอาหารทะเล”ของไทยเพื่อส่งออกในอนาคตได้ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในแต่ละปีไทยส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร แถมยังไม่นับรวมสินค้าประเภทสัตว์ทะเลสดแช่แข็งอีกจำนวนหนึ่งในหมวดสินค้าเกษตรกรรม ทำให้เห็นว่า สินค้าทะเล ก็เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศในมูลค่าที่สูงมาก
และก็ถือเป็นข่าวดีที่ล่าสุด ‘กรมประมง’ ได้ศึกษาวิจัยสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถแข่งขันกับ ‘ปลาแซลมอน’จากยุโรปได้ และที่สำคัญที่สุดประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและผลิตเจ้าสัตว์ชนิดนี้ได้นั้นก็คือ “ปลาช่อนทะเล” (Cobia Fish) หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “ซูกิ (Sugi)” ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “แบล็กแซลมอน” ด้วยเนื้อที่เต็มคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีรสชาติที่ดี สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู
นั่นทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ “Sugi Business Case Challenge สำหรับ โครงการปลาช่อนทะเลต้นแบบ (Sugi Model)” เปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนารูปแบบทางการตลาดของปลาช่อนทะเล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย
รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปลาช่อนทะเล ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องด้วยคุณสมบัติของปลานั้น สามารถต่อยอดให้กลายเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายซึ่งจะเป็นที่นิยมทั่วโลกได้ไม่ยาก แต่การจะไปให้ถึงระดับนั้นได้ ก็จำเป็นจะต้องมีแผนการตลาดที่เหมาะสม เพื่อสร้างแบรนด์และการรับรู้ รวมถึงรักษาคุณภาพของสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ โดยในขณะนี้ความต้องการในตลาดโลกของปลาช่อนทะเลกำลังเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีการเพาะเลี้ยงปลาช่อนทะเลในเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 4-5 หมื่นตัน แต่ในประเทศไทยเอง มีการผลิตได้เพียง 40 ตันต่อปี นับว่ายังเป็นแค่เพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
“ข้อดีของ’ปลาช่อนทะเล’ คือ เป็นปลาที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในเขตร้อนเจริญเติบโตได้เร็วมากภายใน 1 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 5-8 กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างต่ำเฉลี่ย 100 บาท/กิโลกรัม และมีราคาขายที่ค่อนข้างดี คือ 550 บาท/กิโลกรัม นับเป็นปลาทะเลทางเลือกสำหรับเมนูอาหาร ที่สามารถนำมาทานในรูปแบบ ชาชิมิ , สเต็ก , หรือนำมาทำอาหารไทย เมนูต่างๆ ได้อร่อยและมีคุณค่า” รศ.ดร.รุธิร์ กล่าว
สำหรับตลาดหลักของ ปลาซ่อนทะเล คือ กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกอย่าง จีน , ญี่ปุ่น และผู้ผลิตปลาชนิดนี้ หลักๆมาจาก จีน , ปากีสถาน , อิหร่าน และเวียดนาม โดยเชื่อแน่ว่า หากสามารถวางแผนการตลาดสำหรับปลาชนิดนี้อย่างจริงจังและเกิดการรับรู้ในวงกว้างแล้ว จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความสนใจหันมาเพาะเลี้ยงปลาช่อนทะเล ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งปลาชนิดนี้ สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งทะเลฝั่งอันดามัน และ ฝั่งทะเลอ่าวไทย
ด้านนุชนาถ จันทราวุฒิกร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดูแลโครงการ “Sugi Business Case Challenge” เปิดเผยว่า มีนักศึกษาจากหลายคณะ และหลายสถาบัน สนใจเข้าร่วมแข่งขันทำแผนธุรกิจในโครงการนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีนักศึกษาที่สนใจส่งใบสมัครกว่า 120 ทีม แต่ที่เสนอแผนเข้ามาจริงๆ คือ 98 ทีม ซึ่งในขณะนี้ คณะกรรมการได้คัดเลือก 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันออกมาแล้ว โดยใช้การประเมินจากไอเดีย , วิสัยทัศน์ ,และความเป็นไปได้ของแผน ซึ่งจากนี้ ทั้ง 10 ทีมจะได้รับเงินในการทำแผน รวมถึงได้ทำการสำรวจตลาดและความเป็นไปได้ของแผนจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อมาปรับปรุงแผนของตัวเองให้ดีขึ้น โดยในวันที่ 23 มกราคม 2564 จะมีพิธีเปิดโครงการ ณ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และเริ่มกิจกรรม “Hackathon” หรือการระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันให้เหลือ 5 ทีมสุดท้าย ก็จะเข้าไปเสนอแผนกับผู้ร่วมลงทุนจริง เพื่อให้ผู้ชนะทีมสุดท้าย ซึ่งจะประกาศในสิ้นเดือนมีนาคม 2564
“เราเชื่อว่า ปลาช่อนทะเล เป็นเหมือนอัญมณีที่ซ่อนเร้น ซึ่งรอวันเปร่งประกายในไม่ช้านี้ ซึ่งมันสามารถเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ที่โดดเด่น ไม่แพ้กัญชา ที่ภาครัฐพยายามโปรโมตอยู่ในขณะนี้ โดยเมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ดีกว่าปลาแซลมอนด้วยซ้ำ อย่างปริมาณโปรตีน ต่อ 100 กรัม จะอยู่ที่ 41.8% ส่วนแชลมอน มีอยู่เพียง 20.4% ขณะที่ไขมันดี Omega3 ในปลาช่อนทะเลอยูที่ 3300 มิลลิกัรม แซลมอนมีเพียง 2,104 มิลลิกรัม ฉะนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว ปลาช่อนทะเลให้คุณค่าทางอาหารที่ดีกว่า แซลมอนด้วยซ้ำ”
จากนี้เชื่อว่า หากแผนการตลาด มีการขับเคลื่อนจริงๆ ปลาช่อนทะเล นับเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคของประชาชนทั่วไปอย่างแน่นอน และจะยิ่งกระตุ้นตลาดให้มีการเติบโตไปในอนาคตอันใกล้ด้วย
ที่มา ไทยโพสต์ออนไลน์ วันที่ 25 มกราคม 2564