‘คณะพาณิชย์ฯ มธ. หนุนนักศึกษาสู่การพัฒนาตลาดประมงไทย
รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญของคณะฯ มุ่งเน้นส่งเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาองค์ความรู้จากโครงงานจริง ควบคู่กับทฤษฎี เพื่อจะได้ให้นักศึกษาของคณะเอง และนักศึกษาทั่วไปได้มีพัฒนาการที่ดีในด้านการตลาด จึงเป็นที่มาของคณะฯ มองถึงประโยชน์องค์รวม ด้านการส่งเสริมสนับสนุนโครงการ“Sugi Business Case Challenge ดังกล่าว ประกอบกับ ปลาช่อนทะเล ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องด้วยคุณสมบัติของปลานั้นทำได้หลายเมนู หากมีแผนการตลาดที่เหมาะสม เพื่อสร้างแบรนด์และการรับรู้ รวมถึงรักษาคุณภาพของสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประมงไทยและต่อยอดอาหารไทยให้มีชื่อเสียงได้ในอนาคตอีกด้วย
ด้านนางสาวนุชนาถ จันทราวุฒิกร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดูแลโครงการ “SUGI BUSINESS CASE CHALLENGE” กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนด้านการผลักดันและประสานทุกภาคส่วน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนด้านความรู้วิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับประมง และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตอกย้ำจุดยืนในฐานะสถาบันการศึกษาด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาตลาด ซึ่งมองว่า ปลาช่อนทะเลคือ อนาคตเศรษฐกิจของชาติ
การแข่งขันจึงเป็นการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาทั้งนักศึกษาทั่วประเทศ ที่มีความสามารถเพื่อได้โอกาสในการฝึกงานกับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในขณะเดียวกัน ก็หาโมเดลธุรกิจต้นแบบจากการแข่งขันเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาและทำจริงอีกด้วย ซึ่งมีไม่กี่เวทีการแข่งขันที่จะลงงบประมาณให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้และทดลองจริง โดยกระบวนการทั้งหมดไปจนถึงการหาผู้ชนะเลิศจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2564
“เมื่อได้ทีมผู้ชนะเลิศแล้ว จะมีการนำคณะฯ ไปศึกษาดูงานที่กระชังปลา ณ จังหวัดภูเก็ตจริงๆ เพื่อให้เห็นการเชื่อมโยงจากกลยุทธ์การตลาดในเมืองไปสู่การผลักดันฝั่งเกษตรกร ทั้งนี้หลังจากโครงการก็จะมีการนำแผนทั้งหมดมาพัฒนาอีกครั้ง โดยทางทีมบูสเตอร์ ของบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ก่อนจะเริ่มดำเนินงานจริง และต้องบอกเลยว่า
การแข่งขันจะ ทำให้นักศึกษา ได้ฝึกฝนฝีมือเพื่อเตรียมเข้าสู่โลกใหม่ ที่เวลากลายเป็นทรัพยากรสำคัญ นอกจากนี้การออกแบบให้การแข่งขันมีช่วงทดลองตลาดจริง ยังเป็นการดึงนักศึกษาออกจากห้องเรียนไปให้ไกลที่สุดในขาฝั่งธุรกิจอย่างแท้จริง ” นางสาวนุชนาถ กล่าว พร้อมกับวิเคราะห์ว่า ในปัจจุบัน ปลาช่อนทะเล ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ปลาช่อนทะเล หรือ SUGI เป็นปลาเนื้อขาว ในปริมาณ 100 กรัม จะมีโปรตีน อยู่ที่ 40 กรัมโดยประมาณ ขณะที่มีโอเมก้าสูงถึง 3,300 MG โดยศักยภาพในการนำมาทำอาหารสามารถปรุงได้ตั้งแต่ซาชิมิ ไปจนถึงข้าวต้มปลา มัสมั่นปลา สเต็กปลา ก็อร่อย เนื้อแน่นแต่ไม่แข็ง เรียกได้ว่ามีศักยภาพสูงมากในตัวเอง
ในประเทศไทย จะมีการเลี้ยงปลาช่อนทะเลกันอยู่ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต และภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ในขณะที่การส่งออกยังไม่หวือหวาเท่าไร อย่างไรก็ตามตลาดใหญ่ที่นิยมปลาชนิดนี้คือประเทศจีน ที่กำลังการบริโภคคิดเป็น 65% ของขนาดตลาดทั้งหมด ซึ่งถือว่าใหญ่มาก
ส่วนมูลค่าตลาดรวมปลาช่อนทะเลไทย ปีหนึ่งๆ มีประมาณ 40-50 ตัน เท่านั้น แต่ในแง่ของการคาดการณ์อนาคต ว่าเกษตรกรจะหันมาทำประมงปลาช่อนทะเลไทยมากขึ้น ภายใต้การผลักดันจากโครงการ SUGI HACKATHON BUSINESS CASE CHALLENGE ว่าจะสามารถเขย่าให้ตลาดเริ่มรู้จักและถามหาปลาชนิดนี้ เพื่อสร้างดีมานด์ จริงก่อนจะผลักดันไปพร้อมกับการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 27 มกราคม 2564
Date: 27 January 2021