งานสัมมนาสัปดาห์ผู้ประกอบการหญิง Women Entrepreneurship Week 2020 Thailand
“Promoting women entrepreneurship and responsible business conduct to advance sustainability and decent work”
สาขาการบริหารองค์การ การประกอบการ และทรัพยากรมนุษย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ The Responsible Supply Chains in Asia Programme (Thailand) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดงานสัมมนาสัปดาห์ผู้ประกอบการหญิง “Women Entrepreneurship Week 2020 Thailand” ในหัวข้อเรื่อง “Promoting women entrepreneurship and responsible business conduct to advance sustainability and decent work” โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย Women Entrepreneurship Week (WEW) ซึ่งก่อตั้งโดย Feliciano Center for Entrepreneurship แห่ง Montclair State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และเครือข่ายมหาวิทยาลัยกว่า 250 แห่งทั่วโลก พร้อมกันจัดงานสัมมนาสัปดาห์ผู้ประกอบการหญิงขึ้น โดยปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 7 ในระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 13 พฤศจิกายน 2563 เพื่อให้สังคมโลกตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของผู้ประกอบการหญิง และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวให้มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอนาคต
ในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก พญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัดผู้นำธุรกิจเครือข่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม และคุณ Joni Simpson, Senior Specialist on Gender, Equality and Non-discrimination, ILO และคุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
พญ.นลินี ไพบูลย์ บรรยายในหัวข้อเรื่อง Women Entrepreneurship and Responsible Business Conduct เล่าว่าในตอนเริ่มธุรกิจขายตรงนั้นไม่รู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจเลย แต่ใช้หัวใจของความเป็นหมอ อยากให้คนไข้หาย ให้คนมีงานทำ เชื่อในตัวเองแม้จะมีคนคัดค้าน จึงสร้างโรงงานเล็กๆ ขายเครื่องสำอางในชื่อ สุพรีเดิร์ม ในช่วงแรกขายดีมีเงินกว่า 100 ล้าน ตอนอายุ 36 ปี เริ่มหลงตัวเอง แต่ไม่รู้ว่ามีเงินแล้วทำไมไม่มีความสุข ได้นำเงินไปลงทุนต่อโดยแยกออกมาเปิดแบรนด์ใหม่ชื่อ “กิฟฟารีน” อีก 2 ปีต่อมา พร้อมพนักงานส่วนหนึ่งที่ตามมาด้วย “หมอสัญญาว่าจะดูแลทุกคนจนวันสุดท้าย” ประโยคเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ไม่มีอะไรค้ำประกัน มีเพียงความไว้วางใจ (trust) ระหว่างผู้ก่อตั้งกับพนักงาน นำเสนอสินค้ามีคุณภาพดี รับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหา ราคาสมเหตุสมผล จะทำอย่างไรให้พนักงานคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจ
เคล็ดลับในการเป็น “ผู้นำ” คือ คนที่ทำให้คนอื่นรัก รักพนักงาน รักลูกค้า เข้าใจหัวใจคนอื่น ความรักและบารมีไม่ได้มาโดยตำแหน่ง จงเป็นคนที่ยิ้มเก่ง คุยกับคนง่าย ให้เกียรติคนเป็น ชมคนเป็น ไม่พูดจาทำร้ายน้ำใจคน ที่สำคัญคือ เข้มแข็ง เก่ง แต่ดูอ่อนโยน ยอมรับในความคิดต่าง และอย่ายึดติดกับความคิดเดิม โชคดีที่วงการธุรกิจไทยยอมรับในความสามารถของผู้หญิงและความหลากหลาย ไม่ต้องแสดงความเป็นชายให้ดูเหนือกว่าชาย ปี 2554 โรงงานที่นวนครเกิดน้ำท่วมสูงกว่า 2.5 เมตร ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ วิกฤตครั้งนั้นนับว่าใหญ่ที่สุดแต่แทนที่จะท้อแท้ กลับลุกขึ้นมาฮึดสู้และคิดว่าจะเอาโรงงานกลับมาให้เร็วที่สุด การดูแลนักธุรกิจกว่า 3 แสนคนทั่วประเทศเป็นเรื่องยาก คำนึงเสมอในเรื่อง upline (คนแนะนำ) และdownline (คนถูกแนะนำ) ทำอย่างไรไม่ให้คนถูกแนะนำรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ยึดหลักการทำดีกับคนใกล้ตัว ทุกคนอยากทำสิ่งที่รัก ภูมิใจทึ่ได้รับการยอมรับ ต้องการโอกาส รายได้ ตำแหน่ง แต่ก็อย่าโลภจนเกินไป ธุรกิจขายตรงอาจทำให้โลภสูง ทอนความโลภด้วยการให้ผ่านกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ช่วงวิกฤตโควิด-19 บอกพนักงานว่า “ให้เงินเดือนทุกคนเหมือนเดิม ไม่ให้ใครออก” โชคดีที่เริ่มขายออนไลน์มา 4-5 ปีก่อนหน้าทำให้ปรับตัวได้ทัน ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความสุขกับเรื่องราวที่คุณหมอเล่า มีกำลังใจที่จะเป็นผู้ให้และทำประโยขน์แก่ผู้อื่น
Ms.Joni Simpson และคุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ เสวนาในหัวข้อเรื่อง Leading Responsible Business and Decent Work คุณ Joni อธิบายเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business) ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) พยายามส่งเสริมผ่านมาตรฐานแรงงานสากลต่างๆ ที่ไอแอลโอประกาศออกมาและผลักดันให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติตาม ในรูปของกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเรื่อง “งานที่มีคุณค่า (Decent Work)” เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม การส่งเสริมความมั่นคงในการจ้างงาน สิทธิลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง ลาหยุด การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในปัจจุบันข้อตกลงการค้าเสรี ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเกิดขึ้นทั่วโลก
ห่วงโซอุปทานการผลิตโลกกระจายไปในหลายๆ ประเทศ บริษัทเอกชนโดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติควรดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดห่วงโซ่อุปทานนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานทั้งสิ้น นอกจากนี้ไอแอลโอยังส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) มาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าเมื่อผู้หญิงเข้าร่วมในตลาดแรงงานจะเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้นได้ ลูกค้ายุคใหม่คาดหวังที่จะซื้อสินค้าจากบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุดเท่านั้น แต่ตระหนักถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรกับผู้หญิงด้วย การวิจัยทั่วโลกพบว่าผู้หญิงมีอุปสรรคในหน้าที่การงานเพราะต้องทำงานนอกบ้านที่ได้รับค่าจ้าง และใช้เวลาไปกับการทำงานในบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid jobs) เช่น งานบ้าน ดูแลบุตร ดูแลผู้สูงอายุ มากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีความรู้ในการทำธุรกิจน้อยกว่า มีความสามารถด้านเทคโนโลยีด้อยกว่า และถูกเลือกปฏิบัติในงาน (discrimination) มากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเพดานแก้ว (Glass Ceiling) ไม่สามารถเติบโตเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ ดังนั้นการมอบอำนาจให้สตรี (empowerment) โดยให้โอกาสร่วมโต๊ะที่ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ และความโปร่งใสในการปฏิบัติต่อหญิงชายอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ร่วมธุรกิจครอบครัวผลิตผลไม้กระป๋องเมื่ออายุเพียง 25 ปี จากนั้นผลิตน้ำผลไม้ใส่กล่อง UHT 50% เป็นธุรกิจเรา อีก 50% เป็นรับจ้างผลิตและส่งออก อุปสรรคในตอนแรกจึงไม่ใช่เรื่อง “เพศ” แต่เป็น “วัย” คนในบริษัทมองเราเป็นเด็ก ไม่มีประสบการณ์ จึงใช้ความเป็นเด็กขอความรู้ การสืบทอดกิจการจากรุ่นคุณพ่อคิดว่าเป็นทางลัด ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ อยากเรียนรู้อะไรก็ทำได้ ตอนมีลูกถึงเพิ่งเข้าใจว่าผู้หญิงทำงานยากกว่าผู้ชายอย่างไร เมื่อเป็นแม่ต้องให้นมลูกเอง สามีที่เป็นพ่อทำแทนไม่ได้ มีทีมช่วยเยอะ แต่ยังไงก็ต้องทำหน้าที่แม่ ถามว่า “เราทำงานเพื่ออะไร” เพื่อเงิน แต่พอมีเงินเก็บไว้ใช้ไม่หมด เริ่มคิดว่าควรดูแลคนใกล้ตัวที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจ (Stakeholders) ยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น จึงเริ่มเปลี่ยนแปลง (transformation) บริษัทในส่วนของ Hardware ก่อน โดยนำเอาเครื่องจักรที่ดีเข้ามาแม้จะแพง เพื่อลดการใช้สารเคมีที่อาจกระทบกับพนักงาน ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง ในด้าน Software เชื่อมั่นในแนวคิดเติบโตไปด้วยกัน “Growing Well Together”
แต่เมื่อคิดจะทำประโยชน์ให้คนอื่นก็อย่าลืมตัวเองด้วย เชื่อในหลัก “Win-Win Solution” เพราะทำดีเพื่อสังคมแล้ว ธุรกิจก็ต้องอยู่รอดและได้ประโยชน์ด้วย พบปัญหาว่าบรรษัทข้ามชาติที่มาว่าจ้างเราผลิตต้องการให้เราดูแลแรงงานตามมาตรฐานสากล ทำงานไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่กฎหมายไทยอนุญาตให้ทำงานได้ 84 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงเปลี่ยนกะงานจาก 2 กะ (8 ชั่วโมง โอที 4 ชั่วโมง) เป็น 3 กะ ทำให้พนักงานไม่ได้โอที จึงต้องไปเพิ่มฐานเงินเดือนให้พนักงานมีรายได้เพียงพอ แต่ต้นทุนเราเพิ่มขึ้น คนอาจเข้าใจว่า “มาลี” มีจุดแข็งเป็นบริษัทเก่าแก่กว่า 40 ปี แต่ภาพลักษณ์เป็นแบรนด์เก่า ต้องรีแบรนด์ให้มีความร่วมสมัย เป็นคนชอบทำธุรกิจแม้จะไม่ชอบน้ำผลไม้เพราะเป็น volume game วัดกันที่ยอดขาย ทุกเช้าตื่นมาจะนึกเสมอว่าวันนี้จะสร้าง impact อะไรได้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาทึ่งกับความสามารถของซีอีโอหญิงวัย 35 ปีที่อายุน้อยที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เรียนรู้วิธีคิดของผู้ประกอบการหญิงและเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกทำธุรกิจและการทำงานในอนาคต